5 กิจกรรมศิลปะบำบัดง่าย ๆ ทำได้ที่บ้าน

เวลาเด็ก ๆ รู้สึกเศร้า โกรธ หรือมีอารมณ์ทางลบ เด็กบางคนอาจยังไม่สามารถสื่อสารออกมาตรง ๆ ผ่านการพูดหรือการเขียน เพราะทักษะเหล่านี้ต้องอาศัยเวลาและการเรียนรู้ ศิลปะจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยให้เขาได้จัดการกับอารมณ์เหล่านั้น โดยทำหน้าที่เหมือนเป็นตัวกลางหรือคนกลางที่รับฟังและเรียบเรียงความคิด ความรู้สึกของเขาออกมาได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

วันนี้เราเลยนำไอเดียกิจกรรมศิลปะบำบัดง่าย ๆ ทำได้ที่บ้านมาฝากคุณพ่อคุณแม่กัน ซึ่ง 5 กิจกรรมนี้แนะนำโดยนักศิลปะบำบัดจากพิพิธภัณฑ์วิจิตรศิลป์มอนทรีออล (the Montreal Museum of Fine Arts)และเป็นกิจกรรมที่ไม่จำเป็นต้องมีทักษะพื้นฐานทางศิลปะมาก่อน ทั้งคุณพ่อคุณแม่และลูก ๆ เพราะหัวใจสำคัญของศิลปะบำบัด คือการสำรวจตัวเองระหว่างสร้างสรรค์ผลงาน มากกว่าความสวยงามของผลงานแต่ละชิ้น

1. กิจกรรม “ภาพตัดแปะเชื่อมความสัมพันธ์”

  • เริ่มต้นจากการหาอุปกรณ์ที่สามารถตัดได้ เช่น การ์ด หนังสือพิมพ์ นิตยสาร ใบปลิว สมุดที่ไม่ใช้งานแล้ว
  • จากนั้นให้ลูกลองนึกถึงคนที่เขาอยากให้กำลังใจ ขอบคุณ หรือมีความรู้สึกทางบวกอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งผู้ปกครองสามารถออกแบบได้ตามความเหมาะสม
  • ให้ลูก ๆ เลือกกระดาษที่มีมาตัดแปะเพื่อสื่อถึงความรู้สึกนั้น โดยไม่ต้องนึกถึงความสวยงาม แต่เน้นความหมายและเหตุผลที่เลือกแต่ละภาพที่นำมาตัดแปะ
  • เมื่อทำเสร็จแล้ว ให้พวกเขาพรีเซนต์ผลงานของตัวเอง บอกเหตุผลที่เลือกภาพที่นำมาตัดแปะ ก่อนจะถ่ายภาพหรือนำงานชิ้นนั้นไปให้เจ้าตัวที่เด็ก ๆ พูดถึง พร้อมอธิบายความหมายของภาพให้ฟัง

กิจกรรมนี้ นอกจากจะช่วยให้เด็ก ๆ ได้ฝึกสมาธิและโฟกัสกับอารมณ์ทางบวกแล้ว ยังช่วยให้เขาได้ส่งความรู้สึกหัวใยไปให้คนรอบข้าง และช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างเด็ก ๆ กับคนที่เขาพูดถึงได้มากขึ้น เพราะบางทีอาจไม่ค่อยมีโอกาสได้ให้กำลังใจหรือบอกเล่าความรู้สึกกันตรง ๆ แบบนี้

2. กิจกรรม “ฝึกความคิดสร้างสรรค์ไปกับงานปั้น”

  • ใช้ดินน้ำมัน ปั้นเป็นรูปร่างต่าง ๆ ตามใจชอบ
  • ใช้อุปกรณ์ที่สามารถกด ทับ หรือทำเป็นลวดลายได้ เช่น แปรงสีฟัน ตะเกียบ ไม้จิ้มฟัน ดินสอ ใบไม้ ฯลฯ  มาสร้างสรรค์ลวดลายใหม่ ๆ โดยใช้วิธีการกด ขูด วาด หรือวิธีอื่น ๆ ได้ตามใจชอบ ซึ่งนับว่าเป็นการทดลองอะไรใหม่ ๆ ชวนตื่นเต้นเซอร์ไพรซ์ว่าลวดลายบนดินน้ำมันที่ออกมาจะเป็นแบบไหน

ขอบคุณภาพจาก freepik

การปั้นจะช่วยให้เด็ก ๆ ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ซึ่งอยู่ในส่วนสมองซีกขวา มากกว่าการใช้ความคิดกังวลเรื่องต่าง ๆ ซึ่งอยู่ในสมองซีกซ้าย และยังช่วยลดความดันเลือด ความตึงของกล้ามเนื้อได้อีกด้วย

3. กิจกรรม “ปรับรูป เปลี่ยนภาพ ขจัดความกลัว”

  • เตรียมอุปกรณ์ที่มีรูปภาพ อาจเป็นหนังสือพิมพ์ นิตยสาร ภาพจากในอินเทอร์เน็ตที่พรินต์มา หรือภาพที่เซฟไว้ในไอแพด
  • หารูปภาพที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกกลัว กังวล หรือไม่สบายใจในตอนนั้น อาจจะเป็นรูปคน สัตว์ สิ่งของ หรือภาพอื่น ๆ ที่สื่อถึงความไม่สบายใจนั้นได้
  • ให้โจทย์เด็ก ๆ ว่า ทำยังไงก็ได้ให้ภาพนั้นดูตลก น่ารัก หรือสวยงามมากขึ้นในสายตาเขา โดยสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามใจชอบ เช่น ใช้ปากกาวาดหน้ายิ้มทับลงไป ตัดกระดาษสีสดใสมาแปะรอบ ๆ รูปนั้น วาดดอกไม้ใบหญ้ารอบ ๆ ฯลฯ โดยสามารถใช้อุปกรณ์ที่ถนัดได้ตามใจชอบ ถ้าเด็กโตที่ถนัดใช้คอมพิวเตอร์ ก็สามารถใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ตัดต่อภาพได้อีกด้วย

ขอบคุณภาพจาก Mr TT

กิจกรรมนี้จะช่วยลดความตึงเครียด และช่วยให้เด็ก ๆ ได้ลองมองความเศร้า ความกลัวและความกังวลในแง่มุมที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งไอเดียนี้เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่นักศิลปะบำบัดชื่อว่า Claire Nicholls ริเริ่มขึ้นภายใต้แฮชแท็ก #CreateArtFeelBetter โดย Claire Nicholls เลือกภาพเด็กผู้ชายที่กำลังร้องไห้ ซึ่งแขวนไว้บนผนังบ้านเธอตอนเด็ก ๆ และเป็นภาพที่เธอรู้สึกกลัวมาตลอด เธอเลยลบภาพน้ำตาของเด็กผู้ชายคนนั้นออก แล้วสวมหน้ากากและเสื้อคลุมให้แทน รูปที่ออกมาเลยเหมือนฮีโร่ตัวน้อยมากกว่าเด็กที่กำลังเศร้าสร้อยคนเดิม

4. กิจกรรม “หลับตาวาดรูป ฝึกการปล่อยวาง”

  • เตรียมกระดาษเปล่าแผ่นใหญ่ ๆ แล้วใช้มือซ้ายวาดคร่าว ๆ อาจจะเป็นเส้น รูปร่าง หรือเป็นแบบไหนก็ได้โดยไม่ลืมตา
  • จากนั้นใช้มือขวาทำแบบเดียวกัน กิจกรรมนี้จะมีกระบวนการแตกต่างจากกิจกรรมที่ผ่านมา เพราะไม่ได้เน้นการให้ความหมายโดยใช้สายตาเลือกภาพ สีสัน หรือลวดลายต่าง ๆ แต่ปล่อยให้การเคลื่อนไหวเป็นไปตามสัญชาติญาณโดยไม่นึกถึงภาพสุดท้ายที่ออกมา

กิจกรรมหลับตาวาดรูปเป็นการปล่อยให้มือวาดไปตามความรู้สึกอย่างเต็มที่ ซึ่งช่วยให้เด็ก ๆ ได้ลองผ่อนคลาย ไม่ต้องกังวลกับการวางแผน ความสวยงามของภาพ และไม่ต้องคิดมากว่าผลสุดท้ายที่ออกมาจะเป็นยังไง เพราะเปลี่ยนไปโฟกัสที่ลมหายใจ ความคิด ความรู้สึกในขณะนั้นแทน

5. กิจกรรม “เติมความสดใสด้วยสีเหลือง”

  • รวบรวมอุปกรณ์ต่าง ๆ ในบ้านที่มีเสียงเหลือง เช่น ดินสอสี กระดาษ สีเมจิก ดอกไม้ ฯลฯ
  • ใช้อุปกรณ์สีเหลืองเหล่านั้นมาวาดรูป ตัดแปะ หรือสร้างสรรค์เป็นภาพทิวทัศน์หรือภาพอื่น ๆ ได้ตามต้องการ โดยอาจจะมีสีอื่น ๆ เพิ่มเติม แต่เน้นให้มีสีเหลืองมากที่สุด

ขอบคุณภาพจาก Jeswin Thomas

สาเหตุที่ใช้อุปกรณ์สีเหลือง เพราะสีเหลืองเป็นสีที่กระตุ้นความรู้สึกอบอุ่น ให้กำลังใจ และมองโลกในแง่ดี เหมาะกับการสร้างสรรค์ผลงานที่ช่วยเยียวยาจิตใจ

ทั้ง 5 กิจกรรมนี้ นอกจากจะช่วยคลายเครียดแล้ว ยังสามารถใช้เพื่อให้เด็ก ๆ ได้สำรวจความคิด ความรู้สึก และเข้าใจตัวเองมากขึ้น รวมทั้งพัฒนาทักษะทางสังคมไปในตัวได้อีกด้วย

ขอบคุณข้อมูลจาก

CBC

Urbinner

the Montreal Museum of Fine Arts